ที่มา : หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,878 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2566
https://www.thansettakij.com/business/marketing/561999

เปิดประเทศ-เปิดหน้ากาก ปลุกตลาดความงามคึกคัก เมคอัพฟื้นเบียดสกินแคร์ จับตาผู้เล่นสปีดลงทุน นำเข้าแบรนด์ชั้นนำดันเพียวสกินแคร์ ออแกนิกส์ รับเทรนด์ Green Beauty มาแรง

อุตสาหกรรมความงามโลกปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 18.5 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3% และมีการประเมินว่าในปี 2568 มูลค่าอุตสาหกรรมความงามจะมีมูลค่าสูงถึง 7.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 22.3 ล้านล้านบาท และขยายตัวเป็น 7.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 24.4 ล้านล้านบาทในปี 2570โดยตลาดหลัก 46% อยู่ที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รองลงมา อเมริกาเหนือ 24% ยุโปรตะวันตก 18% ละตินอเมริกา 8% ยุโรปตะวันออก 6% และ แอฟริกา 3% โดยเซ็กเมนต์ที่ขยายตัวสูงสุดของโลก คือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และเครื่องสำอาง

อย่างไรก็ตามในปี 2563 ในช่วงวิกฤติโควิด-19 รุนแรง อุตสาหกรรมความงามมียอดขายลดลงถึง 80% โดยเฉพาะเซ็กเมนต์เมคอัพที่เติบโตลดลงอย่างมากจากการที่คนงดออกจากบ้าน ในขณะที่กลุ่มสกินแคร์เติบโตสวนตลาดขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ

นายหิรัญ ตันมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีฟแอนด์บอย จำกัด สะท้อนให้ฟังว่า ปี 2566 จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมความงามและบิวตี้ สโตร์ กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากผู้เล่นในตลาดเริ่มอัดแคมเปญการตลาดอย่างเข้มข้น ขณะที่ฝั่งของผู้บริโภคมีการศึกษาข้อมูลและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ความงามที่หลากหลายทำให้ภาพรวมตลาดเติบโตขึ้น

โดยหมวดหมู่สินค้าที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มเมคอัพ ที่เติบโตขึ้นมากหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการให้ถอดหน้ากากอนามัยได้ ทำให้กลุ่มเมคอัพได้รับการตอบรับสูงขึ้นมากและส่งผลต่อยอดขายของบริษัทโตขึ้นมากกว่า 71% โดยเฉพาะลิปสติกและรองพื้น

ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่ปีนี้ตลาดเมคอัพจะกลับขึ้นมาใหญ่กว่าสกินแคร์ที่ครองสัดส่วนการตลาดใหญ่ที่สุดในช่วงโควิด ซึ่งเริ่มเห็นหลายแบรนด์ทยอยออกสินค้าใหม่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคกลับมาคึกคักทั้งในส่วนของสินค้ากลุ่มสกินแคร์,กลุ่มเวชสำอาง และกลุ่มบอดี้แคร์ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นมากกว่า 53% เมื่อเทียบกับปี 2565

สำหรับ อีฟแอนด์บอยจะกลับมาทำการตลาดอย่างจริงจังในปีนี้ ภายใต้งบลงทุนกว่า 200 ล้านบาทซึ่งเป็นการใช้ media เยอะที่สุดเท่าที่เคยใช้มา โดยดึง มาร์ค ต้วนมาเป็นโกลบอลแอมบาสเดอร์คนแรกของแบรนด์เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ และสร้างการรับรู้และจดจำแบรนด์ในระดับสากลเพื่อปูทางสู่การขยายตลาดต่างประเทศในอนาคต

“ปัจจุบันเรามีร้านอีฟแอนด์บอย 18 สาขาและจะเปิดเพิ่ม 3 สาขาในปีนี้ในโมเดลไซส์ใหญ่ นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้วเราได้ตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 5 ปีจะขยายไปตลาดต่างประเทศเริ่มจากเพื่อนบ้านโซนอาเซียน ดังนั้นแคมเปญ “EVEANDBOY SHINING THE UNIVERSE” และ “มาร์ค ต้วน” น่าจะช่วยสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคในประเทศรอบๆบ้านเรารู้จักแบรนด์ อีฟแอนด์บอย และรู้จักแบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามของไทยมากขึ้น เพราะหนึ่งในจุดประสงค์ของแคมเปญนี้คือเราอยากผลักดันแบรนด์ไทยที่อยู่กับเรานับ 100 แบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก”

ด้วยมูลค่าตลาดสกินแคร์ไทยที่สูงถึง 8 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 7-8% กลายเป็นเค้กก้อนโตที่ใครๆ ก็สนใจ โดยนายพีท เชียช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท 79 ยูนิ มายด์ จำกัด ในฐานะผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ NHH ไต้หวัน กล่าวว่า เซ็กเมนต์ออแกนิกส์มีมาร์เก็ตแชร์ 20-25% มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากคนอยู่บ้านมากขึ้น และเชื่อว่าในช่วงหลังโควิด ตลาดสกินแคร์จะยังเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าคนจะออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ผู้บริโภคยังต้องการแต่งหน้าเพื่อให้ดูดี ซึ่งจะย้อนกลับมาที่การดูแลผิวพรรณด้วยสกินแคร์ก่อนใช้เครื่องสำอางด้วย

“เทรนด์สกินแคร์บ้านเราหลักๆ ผู้บริโภคจะดูที่ราคาเป็นหลัก ต่อมาดูแบรนด์แอมบาสเดอร์และคุณภาพ เป็นอันดับ 3 ซึ่งตอนนี้ตลาดสกินแคร์บ้านเราค่อนข้างเปิดกว้าง ผู้บริโภคทุกคนพร้อมที่จะทดลอง แต่ข้อเสียคือผู้บริโภคพร้อมที่จะเปลี่ยนแบรนด์ได้เสมอ ไม่มีรอยัลตี้ต่อแบรนด์ ดังนั้นการทำให้ผู้บริโภคทดลองใช้ครั้งแรก

และกลับมาซื้อต่อเป็นกลยุทธ์ที่เราต้องคิดต่อ ในเซ็กเมนต์ออแกนิกส์สกินแคร์ ตอนนี้มีผู้เล่นเข้ามาหลายรายแต่การแข่งขันยังไม่รุนแรง เพราะยังไม่มีสินค้าที่เป็นเพรียวออแกนิกส์จริงๆ เราเป็นนิวคัมเมอร์ที่มาในเซ็กเมนต์นี้ และเชื่อว่าโปรดักส์หลายๆตัวจะทำให้เราค่อยๆเป็นผู้นำของตลาดได้ ตามการเติบโตของเทรนด์ Green Beauty และอายุผู้ใช้ลดลงมาเรื่อยๆ

แต่เราไม่กังวลเรื่องกำลังซื้อเพราะด้วยช่วงราคาของแบรนด์อยู่ที่ 800- 1,200 บาท เน้นเจาะตลาดกลุ่มกลางบนขึ้นไป เพราะฉะนั้นในเรื่องของกำลังซื้อจึงไม่น่ามีปัญหา ที่สำคัญคนไทยจะเปรียบเทียบความคุ้มค่าจากปริมาณเทียบกับราคา บวกกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นเรื่องของอีโมชั่นนอล ส่วนมากผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อโดยไม่รู้ตัว”

อย่างไรก็ดีปัจจุบันตลาดสกินแคร์ในประเทศไทยยังครองตลาดโดยแบรนด์นำเข้าจากอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นและเกาหลี ส่วนแบรนด์ไต้หวันยังไม่เป็นที่รู้จักหรือนำเข้ามาทำตลาดในประเทศมากนัก จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบริษัท เพราะการแข่งขันของแบรนด์นำเข้ายังถือว่าไม่ดุเดือด ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำตลาดได้ยากจากข้อจำกัดหลายด้าน

ทั้งการขอใบอนุญาตจาก อย. ที่ต้องใช้ระยะเวลานานโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์หรือ อินกรีเดียนท์ใหม่ๆ หรือผลิตภัณออแกนิกส์ ที่ต้องใช้ข้อมูลการวิจัยต่างๆเข้ามาประกอบการพิจารณา ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายที่มีสินค้าดีๆจากประเทศแต่ไม่มีฟอร์แมทและ R&D มาให้อย.พิจารณาไม่สามารถนำเข้าได้

“นอกจากเรื่องของการขอใบอนุญาตแล้ว การนำเข้าสินค้ายังมีปัจจัยทางด้านต้นทุนทั้งค่าขนส่ง โลจิสติกส์ และภาษีต่างๆ ในอนาคตเรามองว่าอาจต้องจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) สำหรับวิจัย พัฒนาและผลิตสินค้าในประเทศไทย เพราะจะทำให้ภาษีนำเข้าหายไปเยอะ ถ้าเรานำเข้าอย่างเดียวไปไม่รอด อย่างมากสุดLife Time อยู่ได้แค่ 3 ปีและจะกลายเป็นเงินทุนสะสมเพราะจะต้องจ่ายในส่วนที่ไม่ควรจ่าย และเมื่อสินค้าราคาถูกลงแต่สรรพคุณเท่าเดิมก็จะช่วยให้ยอดขายและบริษัทเติบโตได้ เบื้องต้นในปีแรกเรามองว่าน่าจะมียอดขายหลักร้อยล้านบาท”

ยังมีแบรนด์ความงามอีกจำนวนมากที่สนใจและมีแนวคิดที่จะรุกเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยอย่างเต็มรูปแบบ เพียงแต่รอจังหวะเวลา และความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ตลาดนี้แข่งขันกันอย่างดุเด็ด เผ็ดมันแน่นอน