ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ Eureka section ฉบับวันที่ 7 ก.พ. 2560 (http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/634683)

มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นตัวเลือกในอันดับต้นๆ ของผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางที่ต้องการพึ่งพาบริการวิชาการแบบครบวงจร รวมทั้งทดสอบมาตรฐานและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ล่าสุดได้รับสนับสนุนจากทีเซลส์ตั้งศูนย์ทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัย เครื่องสำอาง ปูทางขึ้นแท่นศูนย์การทดสอบในอาเซียนในอนาคตอีก 5 ปี


ศูนย์ทดสอบแห่งใหม่นี้อยู่ในความดูแลของสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มุ่งให้ผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยและสตาร์ทอัพ มีโอกาสส่งผลิตภัณฑ์ เข้ารับการทดสอบจากแล็บที่มีความเป็นสากล เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคและเปิดโอกาสก้าวสู่การแข่งขันในตลาดโลก


สร้างมาตรฐานความเชื่อมั่น


ภายในศูนย์ทดสอบมีเครื่องมือทดสอบที่มีมาตรฐาน ICH GCP อาทิ เครื่องสแกนภาพการไหลเวียนโลหิตแบบปัจจุบัน เครื่องวัดสภาพผิวหน้าและริ้วรอยด้วยความละเอียดสูงแบบสามมิติ เครื่องตรวจสอบสภาพผิวหนังด้วยคลื่นเสียง เครื่องวัดการสะท้อนแสงของผิวและเส้นผม เครื่องวัดประสิทธิภาพการป้องกันรังสียูวีเอ และยูวีบีของผลิตภัณฑ์กันแดด เครื่องวัดปริมาณเม็ดสีเมลานิน และปริมาณฮีโมโกลบิน ส่งผลให้ได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่นำผลิตภัณฑ์เข้ามาทดสอบ


นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์หรือทีเซลส์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ย 18% ต่อปี ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 1 ล้านคน แม้ว่าสัดส่วนในตลาดโลกยังไม่มาก แต่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติที่กำลังมีบทบาทในตลาดโลก
"ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่มีข้อบังคับให้ทำการวิจัยทางคลินิก แต่การมีผลพิสูจน์ทางหลักวิทยาศาสตร์จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น ทั้งยังเป็นเครื่องมือเข้าสู่การแข่งขันทางการตลาดได้”


ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากลและขยายโอกาสทางการตลาด ทีเซลส์จึงร่วมกับสถานวิจัยเครื่องสำอางฯ เปิดเวทีให้ภาคธุรกิจส่งตัวอย่างเครื่องสำอางจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเข้ามาชิงทุนเพื่อรับบริการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิก จำนวน 4 ทุน วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาทต่อทุน ผู้ผ่านการคัดเลือกยังมีโอกาสนำผลิตภัณฑ์ไปแข่งขันในเวทีนานาชาติ Cosmetic Victories ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย (ดูรายละเอียดได้ที่ www.tcels.or.th)


เพิ่มศักยภาพสู่เวทีโลก


รศ.ภก.เนติ วระนุช ผู้อำนวยการสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ กล่าวว่า จากประสบการณ์ผู้ประกอบการที่เข้ามารับบริการตรวจสอบมีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของตนเองระดับหนึ่งแล้วว่า ได้ผลจริงและมีความปลอดภัย พบว่า ประมาณ 80% ผ่านการทดสอบ แต่จะมีเพียงส่วนน้อยที่ไม่เป็นไปตามคาดหวัง


อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบความปลอดภัยที่ผู้ประกอบการควรให้ความใส่ใจ คือ การระคายเคืองและสารที่ห้ามใช้ เป็นข้อกำหนดทางกฎหมายที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก ส่วนประสิทธิภาพถือเป็นความรับผิดชอบในส่วนของผู้ผลิตว่า จะสามารถตอบสนองในสิ่งที่โฆษณาผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่
การทดสอบของศูนย์ฯ เป็นการทดสอบกับคนไม่ใช้เซลล์ในหลอดทดลองเพราะไม่สามารถตอบได้ทุกอย่าง เช่น การลดริ้วรอย เนื่องจากเวลาทดสอบในเซลล์ ตัวผลิตภัณฑ์จะสัมผัสกับเซลล์โดยตรง แต่ในมนุษย์จะมีผิวหนังชั้นนอกซึ่งเป็นตัว ดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังชั้นใน สุดท้ายก็ต้องทดสอบทางคลินิกอีกครั้งเช่นกัน


แม้ว่าในอนาคตอาจมีการพัฒนาโมเดลสามมิติหรือผิวหนังเทียม แต่ก็ใช้แทนผิวมนุษย์ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ผลสุดท้ายแล้วการทดสอบในมนุษย์ก็ยังเป็นคำตอบสุดท้ายที่จะบอกว่า มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ยกเว้นเรื่องการทดสอบความเป็นพิษจะไม่ใช้มนุษย์ สำหรับเป้าหมายของศูนย์ทดสอบฯ หวังว่าจะเป็นหน่วยบริการทดสอบครบวงจร เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและเป็นที่พึงของหน่วยงานภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทั้งยังคาดหวังที่จะเป็นหน่วยงานส่งเสริมเครื่องสำอางธรรมชาติของไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้

 Link : มน.เปิดตัวศูนย์ทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยเครื่องสำอาง

มน.เปิดตัวศูนย์ทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยเครื่องสำอาง