กรุงเทพฯ 16 เม.ย.- กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ส.อ.ท. ระบุ โควิด-19 กระทบยอดส่งออกแล้วร้อยละ 5.7  ตลาดในประเทศก็ไม่น้อยไปกว่ากัน คาดตลาดรวมเครื่องสำอางปีนี้ จะลดลง 10%

นางเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทยและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยสำนักข่าวไทยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้ล้วนไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่ผ่านมาอย่างต้มยำกุ้งหรือผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่นๆ

สาเหตุที่การแพร่ระบาดของโควิด -19 กระทบอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยหนัก เกิดจากหลายสาเหตุ ด้านตลาดส่งออกต้องประสบปัญหาการปิดประเทศ ส่งออกไปไม่ได้ โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้านอย่างกลุ่มประเทศ CLMV ขณะที่ตลาดในประเทศ พฤติกรรมของผู้บริโภค เปลี่ยนแปลงไป อยู่บ้านมากขึ้น หันมาให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดมากขึ้นส่งผลช่วยให้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือขายดีขึ้น แต่การแต่งตัวออกจากบ้านลดน้อยลง  ตลอดจนผลกระทบจากการปิดห้างสรรพสินค้า ปิดร้านเสริมสวยและการปิดสนามบินที่กระทบร้านค้าปลอดอากร ส่งผลให้ยอดขายเครื่องสำอาง เช่นแชมพู ยาย้อมผม และอื่นๆ  ล้วนยอดขายไม่มีหรือยอดขายตก โดยภาพรวมแล้ว ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ยอดส่งออกลดลงแล้ว  5.7% และยอดขายในประเทศ ซึ่งบางส่วนเป็นเครื่องสำอางนำเข้าก็ยอดขายลดลงเช่นกัน ทำให้ยอดขายในประเทศไตรมาสแรกปีนี้ลดลงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ประเมินในเบื้องต้นว่า หากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ คาดว่า จะทำให้ภาพรวมตลาดเครื่องสำอางไทย ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 180,000 ล้านบาท และตลาดส่งออก 120,000 ล้านบาท มีโอกาสที่ยอดขายลดลงร้อยละ 10

นอกจากนี้ ด้านการผลิตก็ประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดหัวกด หัวสเปรย์ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น  สารทำข้นรวมถึงบรรจุภัณฑ์ ที่ปัจจุบันผู้ประกอบการ ยังต้องนำเข้ากว่าร้อยละ 90 จากผู้ผลิตในประเทศอิตาลีและประเทศสเปน รวมถึงนำเข้าบ้างบางส่วนจากประเทศจีน ซึ่งประเทศเหล่านี้ ถูกผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ส่งผลขาดแคลนอย่างหนัก

นางเกศมณี  กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ยังประสบปัญหาการเข้าถึงแอลกอฮอล์ด้วยเพื่อจะนำมาผลิตสินค้าต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากปัจจุบันการจำหน่ายแอลกอฮอล์ผูกขาดโดยองค์การสุรา จึงต้องการให้ภาครัฐปรับนโยบายเพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยอาจเพิ่มผู้จำหน่ายให้มากกว่านี้ รวมถึงปรับนโยบายเป็นเชิงสนับสนุนผู้ประกอบการมากกว่ากำกับผู้ประกอบการ ไม่ต้องการให้มองว่า ผู้ประกอบการเป็นผู้ร้ายจ้องแต่จะนำแอลกอฮอล์ไปผลิตสุราเท่านั้น เพราะขณะนี้สามารถนำไปผลิตสินค้าอื่น ๆ ได้เช่น ผลิตเจลผสมแอลกอฮอล์ 70-75 % สำหรับล้างมือหรือสินค้าตัวอื่นที่มีความจำเป็นต้องใช้ พร้อมกับส่งเสริมผู้ประกอบการให้ใช้ นวัตกรรมในการผลิต ขณะที่ผู้บริโภคมีความรู้ในการเลือกใช้สินค้าคุณภาพ เชื่อว่า จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้เติบโตได้มากยิ่งขึ้นและมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกที่ดียิ่งขึ้นได้.-สำนักข่าวไทย